วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

“ทักษะการฟัง” ทักษะสำคัญในชีวิตการทำงาน

“ทักษะการฟัง” ทักษะสำคัญในชีวิตการทำงาน   

   ในการสื่อสารใด ๆ หรือการพูดคุยสนทนาระหว่างกันในเรื่องหนึ่งเรื่องใดนั้น “ทักษะการฟัง” เป็นสิ่งสำคัญมาก การเป็นนักฟังที่เข้าทำนอง “ฟังไม่ได้ศัพท์แล้วจับมากระเดียด” ตามที่สุภาษิตไทยโบราณว่าไว้นั้น นอกจากจะนำมาซึ่งความผิดพลาดในการสื่อสารแล้ว ยังอาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิด การทะเลาะเบาะแว้งไม่ลงรอยระหว่างกันไม่ว่าจะเป็นชีวิตครอบครัวหรือชีวิตการทำงาน

   ทักษะการฟังเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต้องเรียนรู้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทักษะการสื่อสารด้านอื่น ๆ เช่น ทักษะการพูด อ่าน เขียน ฯลฯ  ทักษะการฟังที่ดีนำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิต เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญของการทักษะการเข้าสังคม ลดความเข้าใจผิด ความขัดแย้งในการปฏิสัมพันธ์กับคน นอกจากนี้การพัฒนาทักษะการฟังส่งผลต่อการพัฒนาในด้านสติปัญญา ในแง่ของการฝึกใช้ความคิด การจับประเด็น ฝึกความจำ และฝึกฝนการจดจ่อแน่วแน่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ต้องการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 


   อย่างไรก็ตามแม้ทักษะการฟังจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่าทักษะนี้เป็นเรื่องที่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้เองตามธรรมชาติจึงไม่ต้องดิ้นรนฝึกฝนมากเท่ากับทักษะการสื่อสารด้านอื่น ๆ  เมื่อเทียบกับทักษะในด้านการพูด อ่าน เขียน ที่ให้น้ำหนักความสำคัญในการฝึกฝนมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วทักษะการฟัง เป็นทักษะที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนเช่นเดียวกัน โดยจากงานวิจัยกลุ่มตัวอย่างผู้ฟังจำนวน 100 คน พบว่ามีเพียง 10 คนเท่านั้นที่มีทักษะการฟังที่ดี โดยคนส่วนใหญ่ที่เหลือไม่มีผู้ใดทราบว่าการฟังอย่างมีไหวพริบ ฟังอย่างเป็นระบบ หรือการฟังอย่างตรงประเด็นนั้นเป็นอย่างไร 
    การฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดีและการฟังอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งที่สามารถสอนและฝึกฝนกันได้ โดยเริ่มจาก
                

     ฝึกฝนความอดทนในการเป็นผู้ฟังที่ดี เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วคนส่วนใหญ่พูดด้วยอัตราเร็วไม่เกิน 200 คำต่อนาที แต่จากการวิจัยพบว่าประสิทธิภาพของสมองในการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ นั้นมีความเร็วถึง 1000 คำต่อนาที ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ฟังจำนวนมากอาจเกิดอาการ “ใจลอย” เนื่องจากเบื่อหน่ายกับสิ่งที่ฟังและมีสิ่งอื่นที่น่าสนใจให้ชวนคิดมากกว่า หรือ “พูดแทรก” เนื่องจากรู้สึกว่าผู้พูดนั้นพูดช้าไม่ทันใจโดยอาจใช้วิธี “ด่วนสรุป” จากความคิดของตนแทนการฟังอย่างตั้งใจจนจบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานที่ผิดพลาด เข้าใจผิด อันเนื่องมาจากการฟังที่ขาดประสิทธิภาพ อาทิ เลขาฟังคำสั่งนัดหมายลูกค้าสำคัญผิดพลาด ส่งผลให้เจ้านายต้องเสียลูกค้าคนสำคัญที่ทำเงินอย่างมหาศาลให้บริษัทไปอย่างน่าเสียดาย...ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างกันในที่ทำงาน ซึ่งบางกรณีอาจสร้างความเสียหายให้กับองค์กรเป็นจำนวนมหาศาล  โดยในภาคปฏิบัตินั้นเราสามารถฝึกฝนความอดทนในการเป็นผู้ฟังที่ดีได้โดยการฝึกฝนจากการฟังเทป บทเรียน หนังสือเสียงต่าง ๆ โดยตั้งเวลาในการฟังอย่างเจาะจงโดยไม่ลุกไปทำอย่างอื่นก่อนฟังเสร็จ รวมทั้งในสถานการณ์จริงเราควรตั้งเป้าไว้เสมอก่อนการสนทนาทุกครั้งที่จะตั้งใจฟังผู้พูดพูดให้จบพร้อมจดจ่ออยู่ที่เนื้อหาของผู้พูดเสมอ

     ฝึกฝนการมีมารยาทเป็นผู้ฟังที่ดี  เป็นหลักการสำคัญในการเรียนรู้ที่จะให้เกียรติผู้พูด ไม่เป็นคนที่เย่อหยิ่งหรือเอาตนเองเป็นศูนย์กลางคิดว่าความคิดของตนดีกว่าจนไม่ยอมรับฟังผู้ใด จนเป็นเหตุให้เราปิดกั้นการเรียนรู้จากแหล่งต่าง ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย รวมทั้งเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีต่อทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ทำให้การสนทนานั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และจบลงด้วยดี  โดยการฝึกฝนในภาคปฏิบัตินั้นได้แก่ ... ฟังโดยสบตาผู้พูดเสมอ...ไม่พูดขัดจังหวะหรือพูดแทรกในขณะที่อีกฝ่ายยังพูดไม่เสร็จ โดยหากต้องการถามอะไรให้จำหรือจดประเด็นเอาไว้ก่อน หรือหากกลัวลืมจริง ๆ ให้กล่าวขออนุญาตถามด้วยน้ำเสียงสุภาพ รู้จักจังหวะของการ พูด/ฟัง ถาม/ตอบ ในการสื่อสาร ...รู้จักเลือกฟังในสิ่งที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์ ไม่ฟังคนอื่นนินทากัน หรือพูดจาลามกหยาบโลน โดยให้ขออนุญาตหรือเดินหลบออกมาอย่างสุภาพ

     ฝึกฝนการฟังอย่างกระตือรือร้น  ไม่เพียงแต่มีมารยาทในการเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยท่าทีตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ แต่การเป็นผู้ฟังที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องมีลักษะแห่งความกระตือรือร้นอยู่ด้วย ไม่ใช่แต่แสดงท่าทางภายนอกว่ากำลังฟังอยู่ แต่ในสมองต้องมีการทำงานถกเถียงและคิดไปด้วยอยู่ตลอดเวลา จะฟังแบบใจลอยคิดถึงเรื่องอื่นไม่ได้   โดยในภาคปฏิบัติเราสามารถฝึกฝนได้โดยการตอบสนองในการฟังทุกครั้ง เช่น ขานรับทันทีเมื่อมีคนเรียก แสดงท่าทางฟังอย่างตั้งใจและตอบรับ “ค่ะ/ ครับ” เป็นต้น เพื่อให้ผู้พูดรู้ว่าเรากำลังตั้งใจฟังเขาอยู่

     ฝึกฝนการจับประเด็นด้วยการตั้งคำถาม ความสามารถในการจับประเด็นเป็นตัวชี้ว่าการสื่อสารที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ผู้ส่งสารสามารถบรรลุเป้าหมายในการสื่อสารที่ต้องการไปยังผู้รับสารหรือไม่   ในภาคปฏิบัติหลังจากจบการพูดคุยกันเราสามารถตั้งคำถามทวนซ้ำกับตัวเองหรือเพื่อนร่วมสนทนาเพื่อทดสอบเราสามารถจับประเด็นในเนื้อหาที่เพิ่งฟังไปได้หรือไม่ ตัวอย่างคำถามเช่น ในรูปแบบของ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร เวลาใด และเราจะต้องทำอะไรต่อไป เป็นต้น รวมทั้งสามารถตั้งคำถามปลายเปิดต่าง ๆ เพื่อการคิดต่อยอด อันก่อให้เกิดประโยชน์ในการฝึกฝนทักษะการคิดให้กับตนเองได้ในอีกทาง รวมทั้งเราสามารถรู้จักผู้ร่วมสนทนามากยิ่งขึ้นผ่านทางแนวคำตอบที่ได้รับด้วยเช่นกัน

     ฝึกฝนทักษะการฟังในสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยใช้สถานการณ์จริงต่าง ๆ ที่ทำให้การฟังเป็นไปอย่างยากลำบาก เช่น ในสถานที่ที่มีสิ่งเร้าหรือสิ่งรบกวนภายนอก ตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ฯลฯ ที่อาจมีเสียงดังรบกวนหรือมีสิ่งที่น่าสนใจกว่าคอยดึงดูดส่งผลให้ประสิทธิภาพในการฟังลดลง 

       เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทักษะด้านการฟังในสถานการณ์ที่ยากลำบากทุกรูปแบบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เมื่อเติบโตขึ้น อาทิ ฟังคำอธิบายงานจากหัวหน้าในขณะที่ทั้งห้องทำงานเต็มไปด้วยเสียงดังในการติดต่องาน เป็นต้น

       หากเราเป็นผู้หนึ่งที่ปรารถนาความสำเร็จในชีวิต ทักษะการฟัง เป็นทักษะสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม แต่เป็นทักษะที่ควรรีบเร่งเรียนรู้ ฝึกฝน สร้างเป็นลักษณะนิสัยเพื่อพัฒนาเราให้เป็นผู้ฟังที่ดีต่อไปในอนาคต 



ที่มา: www.pattanakit.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น