วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อุปนิสัยในการขับถ่ายที่ดี

ทำไมเราจึงจำเป็นที่จะต้องมีอุปนิสัยที่ดีในการขับถ่ายปัสสาวะ

เพราะเหตุว่าอุปนิสัย หรือความเคยชินในการขับถ่ายปัสสาวะที่ผิดปกติ จะนำไปสู่การสูญเสียสมรรถภาพในการควบคุมระบบประสาทกระเพาะปัสสาวะ ทำให้การเก็บ และขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติไปด้วย

การขับถ่ายปัสสาวะที่ปกติเป็นอย่างไร

ในภาวะปกติ การที่เราจะเก็บหรือกลั้นปัสสาวะไว้ได้นั้น จะต้องขึ้นอยู่กับสรีระการทำงานของกระเพาะปัสสาวะกล้ามเนื้อหูรูดท่อปัสสาวะ และกล้ามเนื้อช่องเชิงกราน ซึ่งมีระบบประสาทจากแกนประสาทไขสันหลัง ซึ่งได้รับการควบคุมจากศูนย์ขับถ่ายปัสสาวะในสมอง กระเพาะปัสสาวะโดยทั่วไปในผู้ใหญ่จะเก็บปัสสาวะไว้ได้เต็มที่ประมาณ 300-400 ซีซี โดยที่เราจะเริ่มมีความรู้สึกปวดปัสสาวะเล็กน้อย เมื่อมีปัสสาวะ 150-200 ซีซี ซึ่งจะยังเก็บกลั้นปัสสาวะไว้ได้จนกระทั่งมีความรู้สึกปวดเต็มที่จึงไปปัสสาวะออก ในระหว่างนี้จะไม่มีอาการปัสสาวะเล็ดราด โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะศูนย์ควบคุมปัสสาวะในระดับสมองจะช่วยทำให้เราสามารถเก็บกลั้นปัสสาวะไว้ได้ตามที่เราต้องการ จนกว่าเราจะเลือกถ่ายปัสสาวะออกในเวลา และในสถานที่ หรือห้องน้ำที่เหมาะสม เราจะถ่ายปัสสาวะโดยความรู้สึกหย่อนไม่เกร็งบริเวณกล้ามเนื้อหูรูด หรือกล้าม เนื้อช่องเชิงกราน ไม่ถึงกับต้องออกแรงเบ่งช่องท้อง กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัว และขับถ่ายปัสสาวะออกได้เป็นสายปัสสาวะที่ไม่ขัด ไม่มีความรู้สึกว่าปัสสาวะเหลือตกค้าง เมื่อถ่ายปัสสาวะเสร็จการสร้างอุปนิสัยที่ดีในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะดังเช่นที่กล่าวมานี้จะช่วยให้เราสามารถเก็บปัสสาวะไว้ได้นาน 2-3 ชั่วโมง และถ่ายปัสสาวะออกได้คล่อง ซึ่งจะสามารถใช้เวลาทำกิจกรรม และภารกิจต่าง ๆ ได้ตามปกติวิสัย และเป็นอุปนิสัยที่ดีแม้ว่าเราจะมีอายุมากขึ้นก็ตาม


อุปนิสัยที่ดีในการขับถ่ายปัสสาวะจะสร้างได้อย่างไร ท่านสามารถฝึกหัดได้โดยใช้หลักง่าย ๆ 5 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ควบคุมปริมาณน้ำดื่มให้พอควร
•ดื่มน้ำสะอาดวันละประมาณ 6-8 แก้ว (1,500-2,000 ซีซี)
•ลดปริมาณสารคาเฟอีน โดยไม่ดื่มกาแฟ น้ำอัดลม น้ำชา มากเกินไป
•ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากทำให้ปัสสาวะมากขึ้น และสมองควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ลำบาก

ขั้นตอนที่ 2 ฝึกหัดเข้าห้องน้ำอย่างถูกต้อง
•ใช้เวลาเต็มที่เมื่อถ่ายปัสสาวะ ไม่ต้องรีบร้อน
•ให้แน่ใจว่าคุณถ่ายปัสสาวะออกจนเกลี้ยงทุกครั้ง
•ในเพศชายยืน เพศหญิงนั่ง นั่งลึก ๆ แยกขากออกให้ปัสสาวะออกได้สะดวกดีกว่านั่งหนีบขาไว้
•หลีกเลี่ยงการเข้าห้องน้ำโดยบังเอิญบ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ปวดปัสสาวะ เพราะทำให้กระเพาะปัสสาวะเล็ก เข้าห้องน้ำเมื่อกระเพาะปัสสาวะเต็มเท่านั้น
(หมายเหตุ : ยกเว้นก่อนนอน หรือเมื่อจะออกเดินทางไปธุระ เพราะอาจจะพบปัญหาการจราจรติดขัด จะหาห้องน้ำไม่ได้สะดวก ควรถ่ายปัสสาวะทิ้งก่อนเป็นการเตรียมตัวที่ดี)

ขั้นตอนที่ 3 ฝึกหัดการขับถ่ายอุจจาระ โดยให้เป็นเวลาที่สม่ำเสมอ และระวังอย่างให้ท้องผูก

ขั้นตอนที่ 4 หมั่นดูแลกล้ามเนื้อหูรูดช่องเชิงกราน
•ฝึกหัดกล้ามเนื้อหูรูด และกล้ามเนื้อช่องเชิงกรานตามสมควร
•ลดความอ้วน เพราะน้ำหนักส่วนเกินเป็นการเพิ่มภาระแรงหนักให้กับกล้ามเนื้อช่องเชิงกราน

ขั้นตอนที่ 5 ปรึกษาแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ เมื่อท่านมีปัญหาหรือไม่เข้าใจ

อะไรคือสัญญาณเตือนว่าจะเริ่มมีปัญหาในการขับถ่ายปัสสาวะ

อาการเหล่านี้คือสิ่งผิดปกติ ปัสสาวะราด ปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จามหรือออกแรงเบ่ง ปวดกลั้นไปห้องน้ำแทบไม่ทัน ปัสสาวะรดที่นอนในเด็ก 4 ขวบขึ้นไป ปัสสาวะบ่อยเก็บได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง แต่ละครั้งออกไม่ถึง 200 ซีซี ปัสสาวะมีสีแดงเป็นเลือด เริ่มปัสสาวะต้องรออยู่นานกว่าจะออก ออกไม่สะดวกต้องเบ่ง สายปัสสาวะเล็ก ขาดตอนเป็นช่วง ๆ และมีความรู้สึกว่าปัสสาวะเหลือค้าง

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น